เมื่อโน๊ต อุดม แต้พานิช บุกนิเทศศาสตร์ อุดรธานี

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

สพฐ.จับมือสถาบันอิศรา ติวเข้มนักประชาสัมพันธ์เครือข่ายอีสาน





ดึงวิทยากรมืออาชีพทั่วไทยให้ความรู้ ผู้เข้าอบรมฟิตจัด ตั้งชมรมนักประชาสัมพันธ์ สพฐ. มรภ.อุดรธานีส่งวิทยากรเสริมทัพ
นายสมภพ ศักดิษฐานนท์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา เขต 4 จังหวัดนครราชสีมา ประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง เทคนิค วิธีการสื่อข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ของ สพฐ. เปิดเผยว่า “การจัดอบรมในครั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับสถาบันอิศรา เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ของนักประชาสัมพันธ์ของ สพฐ. นอกจากนี้ผู้เข้าฝึกอบรมได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งชมรมนักประชาสัมพันธ์ สพฐ. ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประชาสัมพันธ์ ถือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และน่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง”
การจัดอบรมในครั้งนี้มีวิทยากรร่วมให้ความรู้ประกอบด้วย คุณศริญญา แสนมีนา กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮักเดอ จำกัด คุณฐิติวรรณ ไสวแสนยากร หัวหน้าข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย ราชภัฏอุดรธานี คุณสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี คุณอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิสรา ในระหว่างวันที่ 21 – 23 กันยายน 2554 ณ โรงแรม ปากช่อง แลนด์มาร์ค จ.นครราชสีมา โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมเป็นนักประชาสัมพันธ์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนกว่า 70 คน
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด วิทยากรบรรยายเรื่อง หลักการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า การบรรยายในครั้งนี้ ได้นำหลักการเขียนข่าวรูปแบบไทย คือการเขียนข่าวแบบ ข้าวหลาม และการเขียนข่าวแบบโอเลี้ยงถูกลืม มาใช้ในการอบรมในครั้งนี้ ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และรู้สึกประทับใจผู้เข้าฝึกอบรมที่ได้ให้ความสนใจ เข้าร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรม ซึ่งคาดว่าจะได้นำความรู้ และประสบการณ์ไปใช้ในการปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ชมรมนักข่าวไอทีจัดติวเข้มอาจารย์ผู้สอนนิเทศศาสตร์ทั่วประเทศ





ยึดเน็คเทค ติวเข้มอาจารย์สร้างนักข่าวไอที ยุค 3.0 ชี้อาจารย์ผู้สอนนิเทศศาสตร์ต้องบูรณาการนำไอทีมาใช้ในการเรียนการสอน สร้างหนังสือพิมพ์ออนไลน์ทุกมหาวิทยาลัย

ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เปิดเผยว่า การใช้ไอทีมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ทำอย่างไรเราจะพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถนำมาใช้ในทางบวกมากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดและพัฒนาต่อไป
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประธาน ที่ประชุมวิทยาการ – วิชาชีพ ด้านการรายงานข่าวไอซีที เปิดเผยว่า ไอทีมีพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง อาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องใช้ไอทีมาใช้ในการเรียนการสอน และผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีรายวิชาเกี่ยวกับด้านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ และเปิดสอนโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุค ไอที 3.0 โดยใช้โซเซียลมีเดียในการนำเสนอข่าวมากขึ้น การเรียนการสอนนิเทศศาสตร์ต้องตามให้ทัน
อาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ที่ปรึกษาชมรมฯ บรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทนักข่าวยุค 3.0 กล่าวว่า นักข่าวยุค 3.0 จะต้องสะท้อนความเป็นไปของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ บทบาทในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ควรใช้การรายงานข่าวเชิงสืบสวนเพื่อให้ได้ข่าว ที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม หลักสูตรในมหาวิทยาลัยควรรองรับ และควรมีรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เข้าร่วมอบรมเปิดเผยว่า การจัดประชุมวิชาการ – วิชาชีพด้านการรายงานข่าวไอซีทีในครั้งนี้ ถือได้ว่าได้ประโยชน์ และอยู่ในช่วงเหมาะสม กล่าวคือ สาขาวิชานิเทศศาสตร์หลายแห่งขณะนี้อยู่ในช่วงการปรับปรุงหลักสูตร ดังนั้นหากมีรายวิชาใหม่ ๆ จากทางสมาคมวิชาชีพที่ได้เสนอแนะ ว่ามีความต้องการบัณฑิตลักษณะใด จะทำให้สามารถนำรายวิชาใหม่ ๆ ไปเปิดสอนและเตรียมนักศึกษานิเทศศาสตร์ให้เท่าทันเทคโนโลยีสารสนเทศในยุค 3.0 และจะได้นำไปสร้างรายวิชาในหลักสูตรโดยเฉพาะเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ออนไลน์เป็นต้น
การจัดประชุมครั้งนี้ มีอาจารย์ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 20 คน จัดโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ระหว่างวันที่ 2 – 3 กันยายน 2554 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี.

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นิเทศศาสตร์ มรภ.อุดรธานีขอดูงานเนชั่น มติชน สปริงส์นิวส์



สาขานิเทศศาสตร์ มรภ.อุดรธานี เสริมทักษะนักศึกษา ปี 4 จัดดูงานเนชั่น มติชน การเคหะ สปริงนิวส์ 29 – 30 ส.ค. 54 คาดได้ประสบการณ์ก่อนออกสู่วิชาชีพ

ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า สาขาวิชานิเทศศาสตร์ได้จัดโครงการเสริมทักษะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อเสริมประสบการณ์ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา ออกไปรับใช้สังคม โดยจัดให้มีการศึกษาดูงานสื่อมวลชน สำหรับครั้งนี้ได้ศึกษาดูงานหน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักข่าวเนชั่น หนังสือพิมพ์มติชน การเคหะแห่งชาติ และสปริงนิวส์ ระหว่างวันที่ 29 – 30 สิงหาคม 2554 โดยได้รับความอนุเคราะห์ด้วยดีจากหน่วยงานดังกล่าว ที่บรรยายให้ความรู้กับนักศึกษาให้เข้าใจหลักการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพนิเทศศาสตร์ได้เป็นอย่างดี
การศึกษาดูงานในครั้งนี้มีนักศึกษาเข้าร่วม ประกอบด้วยวิชาเอกวารศาสตร์ วิชาเอกการประชาสัมพันธ์ และวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ จำนวน 50 คน อาจารย์ที่เข้าร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้ประกอบด้วยผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ผศ.ดร.วัชพร มานะจิตร อาจารย์สุพรรษา วงศ์กัลยา และอาจารย์อัจฉรา ศักยเศรษฐ์ ซึ่งคาดว่านักศึกษาที่เข้าร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้จะมีความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติงานด้านสื่อมวลชน เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการเลือกประกอบอาชีพของนักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาออกสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หนังสั้นนิเทศศาสตร์ ขาสั้นคอซอง เบียดกันสนุก โรงเรียนอุดรพัฒนาการคว้าชัย







นิเทศศาสตร์ มรภ.อุดรธานีจัดประกวดหนังสั้น “ขาสั้น คอซอง : ห่วงใยสังคม” นักเรียนมัธยมแห่ส่งผลงานชิงชัย ในงานวันวิทยาศาสตร์ : ราชภัฏอุดรธานีวิชาการ วันที่ 18 – 20 สิงหาคม 2554
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า สาขาวิชานิเทศศาสตร์ จัดประกวดการแข่งขันหนังสั้นระดับมัธยมศึกษา ครั้งที่ 1 ขึ้น โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากเขตจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียงส่งผลงานเข้าประกวด ผลปรากฏว่า ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศหนังสั้น ได้แก่ทีมจากโรงเรียนอุดรพัฒนาการ ส่งหนังสั้นเรื่อง ยิ้มจัง ได้รับรางวัลทุนการศึกษา 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ โรงเรียนโนนสะอาดชุมแสงวิทยา ส่งหนังสั้นเรื่อง ทางเลือก ได้รับรางวัลทุนการศึกษา 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่โรงเรียนสตรีราชินูทิศ ส่งหนังสั้นเรื่อง หนึ่งคนหนึ่งดวง ได้รับรางวัลทุนการศึกษา 2,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และรางวัลชมเชยมี 2 รางวัล ได้แก่โรงเรียนกุดจับประชาสรรค์ ส่งหนังสั้นเรื่อง ครอบครัว ได้รับเกียรติบัตร และโรงเรียนบ้านแฮด ส่งผลงานเรื่อง สะพานลอย ได้รับเกียรติบัตร
สำหรับการประกวดครั้งนี้เป็นการประกวดหนังสั้นครั้งที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษา ได้ให้ความสนใจในการผลิตหนังสั้น และมีมุมมองด้านความห่วงใยสังคม ถ่ายทอดแนวความคิดออกมาสู่สาธารณชนผ่านหนังสั้น นอกจากการประกวดหนังสั้นแล้วยังมีการจัดเทศกาลหนังสั้น ระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม 2554 โดยมีการฉายหนังสั้นให้ผู้สนใจเข้าร่วมชมได้ในห้อง 314 ตั้งแต่เวลา 9.00 – 16.00 น. โดยมีอาจารย์ชาย วรวงศ์เทพ และนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ (วิทยุและโทรทัศน์) ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการถ่ายภาพสตูดิโอผลงานนักศึกษา การนำเสนอผลงานภาพถ่ายของนักศึกษา การเดินแบบเสื้อผ้าแฟชั่น การจำหน่ายของที่ระลึก การเผยแพร่หนังสือพิมพ์อุดรโพสตร์ การเผยแพร่วารสารลานลีลาวดี การแถลงข่าวละครเวที อีสาน อินเตอร์ 2 ซึ่งจะแสดงในวันที่ 8 – 9 กันยายน 2554 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีอีกด้วย


วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คณาจารย์ มรภ.อุตรดิตถ์ ปลื้มผลงานนิเทศศาสตร์ มรภ.อุดรธานี ขอดูงาน






ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนการสอน ของ 2 มหาวิทยาลัย พร้อมร่วมวิพากษ์หลักสูตร นศ.บ. 4 ปี คาดเปิดสอนได้แน่ทันปี 55 ทั้ง 2 มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า สาขาวิชานิเทศศาสตร์ได้ให้การต้อนรับการศึกษาดูงานของคณาจารย์จากภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 เวลา 9.00 น. ผู้เข้าร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้ประกอบด้วยคณาจารย์ในภาควิชานิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จำนวน 7 ท่าน ซึ่งในการนี้ได้ร่วมกันวิพากษ์หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ด้วย โดยมีผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด และผศ.ดร.วัชพร มานะจิตร ร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาหลักสูตรก่อนเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยต่อไป นอกจากนี้ยังได้เข้าเยี่ยมชมสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา F.M.107.7 MHz. และห้องปฏิบัติการของสาขาวิชานิเทศศาสตร์อีกด้วย
ดร.รดี ธนารักษ์ หัวหน้าภาคสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพบปะกับผู้ทรงคุณวุฒิในการวิพากษ์หลักสูตร และศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนการสอนของสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีด้วย ซึ่งได้รับการต้อนรับด้วยดี และขอชื่นชมการใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่า โดยเฉพาะห้องส่งวิทยุกระจายเสียง F.M.107.7 MHz. ซึ่งเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้นักศึกษาได้เป็นอย่างดี.

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คณะวิทยาการจัดการ มรภ.อุดรธานี ร่วมงานคนสร้างข่าว ครบรอบ 14 ปีสภาการหนังสือพิมพ์




คณบดีนำทีมคณาจารย์ร่วมฟังปาฐกถานายกฯ อภิสิทธ์ บทบาทสื่อกับความมั่นคงของชาติ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน วันที่ 24 มิถุนายน 2554

นายโชคชัย เดชรอด คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า คณะวิทยาการจัดการนำคณาจารย์ในคณะเข้าร่วมงาน “คนสร้างข่าว จริยธรรมสร้างคน” ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่อาจารย์ในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ และเกี่ยวข้องได้พบปะกับนักวิชาชีพที่มีชื่อเสียง ได้รับทราบแนวคิด วิธีการการทำงานด้านข่าวต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีโอกาสอันดีได้รับฟังปาฐกถาพิเศษของท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรื่อง บทบาทสื่อกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งจะได้นำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนนักศึกษาต่อไป สำหรับอาจารย์ที่เข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ผศ.ดร.วัชพร มานะจิต อาจารย์สุพจน์ สกุลแก้ว และอาจารย์อัจฉรา ศักยเศรษฐ์
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ เปิดเผยว่า การเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีของอาจารย์ผู้สอนนิเทศศาสตร์ที่ได้ความรู้ ประสบการณ์ แนวคิดใหม่ ๆ ด้านการสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะด้านจริยธรรม วิทยากรที่บรรยายในครั้งนี้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ซึ่งหัวข้อต่าง ๆ ประกอบด้วย นักข่าวดี ๆ มีจริงหรือ การปาฐกถาพิเศษของศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องค์มนตรี เรื่อง จริยธรรมสื่อมวลชน จับเข่าคุยคนเล่าข่าว สื่อบันเทิง : น้ำผึ้งหรือยาขม และการสนทนากลุ่มเรื่อง เส้นทางข่าวกีฬา : สร้างสรรค์หรือ ...........? ซึ่งสามารถนำความรู้ไปใช้ในการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2554 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ

โพลชี้ เพื่อไทยยังแรงนำโด่งร้อยละ 65.5 ประชาธิปัตย์ตามติดร้อยละ 21.9



ชาวอุดรธานีต้องการส.ส. ที่แก้ปัญหาได้รวดเร็วมากสุด ควรเร่งแก้ปัญหาปากท้อง นิยมเลือกจากนโยบายพรรคเป็นหลัก เชื่อสื่อที่จูงใจมากที่สุดคือโทรทัศน์
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า สาขาวิชานิเทศศาสตร์ได้จัดทำอุดรโพล สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อสื่อการเลือกตั้งในการหาเสียงของผู้สมัครส.ส.ในจังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 16 – 22 มิถุนายน 2554 จากประชาชนในจังหวัดอุดรธานี จำนวน 1,295 คน พบว่า ประชาชนชาวอุดรธานีนิยมติดตามข่าวสารการเลือกตั้งจากสื่อโทรทัศน์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 71.4 รองลงมาคือ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 10.5 สื่อออนไลน์ร้อยละ 5.5 วิทยุร้อยละ 4.0 ได้รับข่าวสารจากผู้สมัครส.ส. ร้อยละ 3.6 โปสเตอร์ ร้อยละ 2.4 แผ่นพับร้อยละ 1.2 นิตยสาร และสื่ออื่น ๆ ร้อยละ 1.0 ตามลำดับ
สื่อที่น่าเชื่อถือมากที่สุดของชาวอุดรธานี พบว่า ประชาชนเชื่อถือสื่อโทรทัศน์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 62.8 เชื่อถือผู้สมัครร้อยละ 13.4 หนังสือพิมพ์ร้อยละ 11.1 สื่อออนไลน์ร้อยละ 5.0 วิทยุร้อยละ 3.0 แผ่นพับ ร้อยละ 1.6 สื่ออื่น ๆ ร้อยละ 1.4 โปสเตอร์ ร้อยละ 1.1 และนิตยสาร ร้อยละ 0.6 ตามลำดับ
นอกจากนี้พบว่าสื่อที่สามารถจูงใจให้ชาวอุดรธานีคล้อยตามและเลือกส.ส.ได้แก่สื่อโทรทัศน์ร้อยละ 55.1 รองลงมาคือ ตัวผู้สมัครเอง ร้อยละ 24.2 หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 7.8 สื่อออนไลน์ ร้อยละ 3.8 วิทยุ ร้อยละ 3.7 โปสเตอร์ ร้อยละ 2.2 แผ่นพับ 1.6 สื่ออื่น ๆ ร้อยละ 1.0 และนิตยสาร ร้อยละ 0.6 ตามลำดับ
ด้านการตัดสินใจเลือกผู้สมัครส.ส.ของชาวอุดรธานี พบว่านิยมเลือกจากนโยบายพรรคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49.0 รองลงมาคือ ดูจากหัวหน้าพรรค คิดเป็นร้อยละ 19.7 มีประสบการณ์การทำงาน ร้อยละ 11.9 มีความรู้สึกที่ดีต่อพรรค ร้อยละ 8.6 เป็นคนในท้องถิ่นร้อยละ 5.6 และดูจากภูมิหลังผู้สมัคร ร้อยละ 5.2 ตามลำดับ
ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ชาวอุดรธานีจะเลือกพรรคเพื่อไทยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 65.5 รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 21.9 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 5.6 พรรคภูมิใจไทย 2.9 พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 2.2 โนโหวต ร้อยละ 1.0 พรรครักประเทศไทย ร้อยละ 0.9 และพรรครักสันติ ร้อยละ 0.4 ตามลำดับ
ชาวอุดรธานีต้องการให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 65.9 รองลงมาคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 22.8 ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 7.4 พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ร้อยละ 2.5 นายชูวิทย์ กมลวิศิษย์ ร้อยละ 0.7 โนโหวต ร้อยละ 0.6 และรตอ.ปุรชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ร้อยละ 0.1 ตามลำดับ
ส่วนปัญหาที่ชาวอุดรธานีต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไขคือปัญหาเรื่องปากท้องมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 35.4 รองลงมาคือ ปัญหาคอรัปชั่น ร้อยละ 22.8 ปัญหาความยากจนร้อยละ 15.1 ปัญหาความปรองดอง ร้อยละ 10.9 ปัญหาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 8.6 ปัญหาที่ทำกินร้อยละ 5.3 และปัญหาอื่น ๆ ร้อยละ 1.9 ตามลำดับ
ชาวอุดรธานีต้องการส.ส.ที่มีคุณลักษณะ แก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 42.1 รองลงมาคือ เข้าถึงชาวบ้าน ร้อยละ 39.8 หางบประมาณลงในพื้นที่ ร้อยละ 7.0 เป็นกันเองกับชาวบ้าน ร้อยละ 5.6 ทำจังหวัดให้มีชื่อเสียง ร้อยละ 3.2 และอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 2.3 ตามลำดับ
การเก็บรวบรวมครั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศหญิงร้อยละ 55.5 เพศชายร้อยละ 44.4 ส่วนใหญ่อายุอยู่ในช่วง 18-25 ปีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44.6 รองลงมาคือ 26 – 40 ปี ร้อยละ 25.3 อายุ 46 – 56 ปี คิดเป็นร้อยละ 22.7 และ อายุ 57 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 7.4 ตามลำดับ
-------------------------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กสทช.จับมือมทส. อบรมเข้มวิทยุชุมชนภาคอีสานตอนบน





นักจัดรายการวิทยุกว่า 500 คนเข้าร่วมอบรม ด้านสาขานิเทศศาสตร์ส่งอาจารย์ นักศึกษา เข้าร่วม อบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2554
นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมสัมมนา เรื่อง การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน ณ ห้องอุดรดุษฎี โรงแรมเจริญโฮเต็ล จ.อุดรธานี โดยมีนายกฤษดา โรจนสุวรรณ รองประธานคณะทำงานด้านกิจการกระจายเสียงชุมชน กล่าวต้อนรับ
ผศ.ดร.วีรพงษ์ พลนิกรกิจ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า การจัดการอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดตั้งวิทยุกระจายเสียงชุมชน การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของกิจการกระจายเสียงชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปฏิบัติ และการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน เพื่อให้สถานีวิทยุชุมชนประกอบกิจการเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน โดยจัด ณ โรงแรมเจริญโฮเต็ล จังหวัดอุดรธานีในระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีนักจัดรายการวิทยุชุมชนในเขตภาคอีสานตอนบนเข้าร่วมประชุมประมาณ 500 คน สำหรับผู้ผ่านการอบรมในครั้งนี้ จะได้รับวุฒิบัตรจากกสทช.อีกด้วย
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดอบรมขึ้นเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจให้กับสถานีวิทยุชุมชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ได้รับการเชิญเข้าร่วมการประชุมสัมมนาดังกล่าว โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายอุเทน เผื่อนทอง อ.นรินทร ฉิมสุนทร ผศ.ดร.วีรพงษ์ พลนิกรกิจ รศ.ดร.รังสรรค์ วงศ์สรรค์ นางสาวทิวาพร แสนเมืองชิน ผศ.หนึ่งหทัย ขอผลกลาง ซึ่งสาขาวิชานิเทศศาสตร์ส่งอาจารย์เข้าร่วมอบรมสัมมนา จำนวน 4 ท่านประกอบด้วย ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ผศ.ดร.วัชพร มานะจิตร อ.สุวัฒนา ดีวงษ์ และอาจารย์สุพรรษา วงค์กัลยา และนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ จำนวนกว่า 100 คนเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ด้วย

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทรูวิชั่นส์บุกมรภ.อุดรธานี ชวนนศ.ร่วมฝึกงานกับ BBC ประเทศอังกฤษ




พร้อมเชิญอ.บรรยงค์ บรรยายนำนักนิเทศศาสตร์พันธุ์ใหม่ พร้อมชวนร่วมโครงการฝึกงานกับ BBC ลอนดอน นักศึกษาเข้าร่วมฟังคับคั่ง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ห้องประชุมคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีคอนนิวส์ วิทยากรบรรยายพิเศษเรื่อง “นักนิเทศศาสตร์พันธุ์ใหม่” กล่าวว่า นักศึกษาที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์จะต้องปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศที่นับวันจะเปลี่ยนแปลงไป สาเหตุเนื่องมาจากสื่อเปลี่ยนช่องทางไป ผู้รับสารเปลี่ยนช่องทางการรับข่าวสาร ดังนั้นจะต้องปรับตามให้ทัน นักนิเทศศาสตร์พันธุ์ใหม่จะต้องมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย ถ้าเรียนด้านวารสารศาสตร์จะต้องใช้บล็อกในการสื่อสารเพิ่มจากหนังสือพิมพ์ ถ้าเรียนด้านการประชาสัมพันธ์จะต้องออกแบบข่าวสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ ถ้าเรียนด้านวิทยุและโทรทัศน์ ต้องเป็นนักออกแบบสื่อด้านการแพร่ภาพกระจายเสียงด้วยสื่อใหม่ได้ ถ้าเรียนด้านโฆษณาจะต้องรู้จักเลือกสรรข่าวสาร ที่น่าสนใจและสื่อสารผ่านสื่อที่หลากหลายได้ สำหรับตลาดแรงงานนั้นต้องการนักนิเทศศาสตร์ที่สามารถสื่อความหมายบนช่องทางที่หลากหลายได้ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ได้ ส่วนด้านหลักสูตรนิเทศศาสตร์ จะต้องติดตามความต้องการของตลาดเป็นหลักว่าต้องการแบบใด เพื่อให้หลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และส่งผลให้บัณฑิตนิเทศศาสตร์เป็นที่ต้องการและไม่ตกงานได้.
นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์โครงการ TrueVisions - BBC World News Future Journalist Award 2011 โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ เข้าร่วมสอบแข่งขันเป็นตัวแทนภาค ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือรับ 5 คนเข้าไปอบรมเข้ม ณ กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะคัดเลือก 2 คน ไปฝึกงานกับสำนักข่าว BBC ประเทศอังกฤษ ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ สาขาวิชานิทศศาสตร์ และกำหนดสอบข้อเขียน ในวันที่ 5 มีนาคม 2554
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า การที่บริษัททรูวิชั่นส์ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันที่ที่นักศึกษาจะได้มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการในการอบรมนักข่าวพันธุ์ใหม่ และมีสิทธิ์ลุ้นไปร่วมฝึกงานกับสำนักข่าว BBC นอกจากนี้ยังได้รับความรู้จากท่านวิทยากรอ.บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ซึ่งเป็นวิทยากรระดับประเทศอีกด้วย จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษานิเทศศาสตร์ได้รับในครั้งนี้ สำหรับคณาจารย์ที่ให้การต้อนรับวิทยากรในครั้งนี้ประกอบด้วย ผศ.ดร.วัชพร มานะจิตร อ.สุวัฒนา ดีวงษ์ อ.สุพรรษา วงศ์กัลยา อ.อัจฉรา ศักยเศรษฐ์ และอ.ชาย วรวงค์เทพ โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 200 คน.

นิเทศศาสตร์ขอดูงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ มรภ.อุดรธานี ทึ่งห้องผลิตรายการโทรทัศน์




นักศึกษาปี 1 ศึกษาดูงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ หอประวัติ พร้อมสำนักศิลปวัฒนธรรม วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554

ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า การศึกษาดูงานของนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ชั้นปีที่ 1/2 สาขาวิทยุและโทรทัศน์ จำนวน 30 คนในครั้งนี้เป็นกิจกรรมประกอบในรายวิชาหลักการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ในสถานการณ์จริง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับหลักการที่ได้ศึกษามา ซึ่งการศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ จำนวน 3 คน โดยได้บรรยายสรุปภาระหน้าที่การปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ การเยี่ยมชมห้องผลิตรายการรอบรั้วราชภัฏ การศึกษาหอประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งนักศึกษาให้ความสนใจจำนวนมาก
นอกจากนั้นยังเข้าศึกษาดูงาน ณ สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยได้รับความอนุเคราะห์จากผศ.นาวา วงค์พรหม รองผู้อำนวยการฯ ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปในการศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วย โดยนักศึกษามีโอกาสได้เข้าร่วมชมนิทรรศการหัวข้อ “กาลเวลา” ที่ตั้งแสดงอยู่บริเวณชั้น 1 อีกด้วย.

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สคบ.ติวเข้มนักศึกษามรภ.อุดรธานีก้าวสู่สายลับ ตรวจจับโฆษณา





สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคบุกอุดรธานี อบรมเข้มนักศึกษากว่า 200 คน แนะเทคนิควิธีตรวจจับโฆษณา พร้อมเชิญชวนส่งผลงานชิงรางวัลกว่า 50,000 บาท

นางสุกัญญา สันทัด ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สำนกงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า การจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สายลับ... ตรวจจับโฆษณา” ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยได้ร่วมมือกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์ และสาขาการสื่อสารการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการขึ้น ณ โรงแรมเซนทรา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อุดรธานี วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมการอบรมครั้งนี้กว่า 200 คน สำหรับวิทยากรในครั้งนี้ประกอบด้วย นายมาณพ พิเศษกุล นักสืบสวนสอบสวนปฏิบัติ และนางสาวจารุวรรณ เอนกคณา นักสืบสวนชำนาญการ ได้ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาในการเฝ้าระวังและตรวจสอบการโฆษณา พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งนำไปใช้การประกอบอาชีพด้านโฆษณาได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระดับอุดมศึกษาให้มีส่วนในการตรวจสอบโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
สำหรับนักศึกษาที่เข้ารับการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ สามารถส่งชิ้นงานโฆษณาที่ถูกตรวจสอบได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2554 การส่งผลงานเข้าแข่งขันแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่สื่อภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกลางแจ้ง อินเทอร์เน็ต และโมบายมีเดีย โดยรางวัลที่ 1 ได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.ocpb.go.th
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า การนำอาจารย์ซึ่งประกอบด้วย ผศ.ดร.วัชพร มานะจิตร อ.สุวัฒนา ดีวงษ์ อ.สุพรรษา วงศ์กัลยา อ.ปารนรี บ่ายฤกษ์ดีและอ.ภัทรภร เสนไกรกุล และนักศึกษา จำนวนกว่า 200 คนเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษาในต่างจังหวัดจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ตรงด้านการโฆษณา และยังนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการตรวจจับโฆษณาในปัจจุบันได้ และคาดว่านักศึกษาจะส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเพื่อชิงรางวัลกับทาง สคบ.ในครั้งนี้จำนวนมาก.