เมื่อโน๊ต อุดม แต้พานิช บุกนิเทศศาสตร์ อุดรธานี

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

สพฐ.จับมือสถาบันอิศรา ติวเข้มนักประชาสัมพันธ์เครือข่ายอีสาน





ดึงวิทยากรมืออาชีพทั่วไทยให้ความรู้ ผู้เข้าอบรมฟิตจัด ตั้งชมรมนักประชาสัมพันธ์ สพฐ. มรภ.อุดรธานีส่งวิทยากรเสริมทัพ
นายสมภพ ศักดิษฐานนท์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา เขต 4 จังหวัดนครราชสีมา ประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง เทคนิค วิธีการสื่อข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ของ สพฐ. เปิดเผยว่า “การจัดอบรมในครั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับสถาบันอิศรา เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ของนักประชาสัมพันธ์ของ สพฐ. นอกจากนี้ผู้เข้าฝึกอบรมได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งชมรมนักประชาสัมพันธ์ สพฐ. ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประชาสัมพันธ์ ถือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และน่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง”
การจัดอบรมในครั้งนี้มีวิทยากรร่วมให้ความรู้ประกอบด้วย คุณศริญญา แสนมีนา กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮักเดอ จำกัด คุณฐิติวรรณ ไสวแสนยากร หัวหน้าข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย ราชภัฏอุดรธานี คุณสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี คุณอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิสรา ในระหว่างวันที่ 21 – 23 กันยายน 2554 ณ โรงแรม ปากช่อง แลนด์มาร์ค จ.นครราชสีมา โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมเป็นนักประชาสัมพันธ์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนกว่า 70 คน
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด วิทยากรบรรยายเรื่อง หลักการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า การบรรยายในครั้งนี้ ได้นำหลักการเขียนข่าวรูปแบบไทย คือการเขียนข่าวแบบ ข้าวหลาม และการเขียนข่าวแบบโอเลี้ยงถูกลืม มาใช้ในการอบรมในครั้งนี้ ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และรู้สึกประทับใจผู้เข้าฝึกอบรมที่ได้ให้ความสนใจ เข้าร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรม ซึ่งคาดว่าจะได้นำความรู้ และประสบการณ์ไปใช้ในการปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ชมรมนักข่าวไอทีจัดติวเข้มอาจารย์ผู้สอนนิเทศศาสตร์ทั่วประเทศ





ยึดเน็คเทค ติวเข้มอาจารย์สร้างนักข่าวไอที ยุค 3.0 ชี้อาจารย์ผู้สอนนิเทศศาสตร์ต้องบูรณาการนำไอทีมาใช้ในการเรียนการสอน สร้างหนังสือพิมพ์ออนไลน์ทุกมหาวิทยาลัย

ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เปิดเผยว่า การใช้ไอทีมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ทำอย่างไรเราจะพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถนำมาใช้ในทางบวกมากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดและพัฒนาต่อไป
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประธาน ที่ประชุมวิทยาการ – วิชาชีพ ด้านการรายงานข่าวไอซีที เปิดเผยว่า ไอทีมีพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง อาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องใช้ไอทีมาใช้ในการเรียนการสอน และผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีรายวิชาเกี่ยวกับด้านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ และเปิดสอนโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุค ไอที 3.0 โดยใช้โซเซียลมีเดียในการนำเสนอข่าวมากขึ้น การเรียนการสอนนิเทศศาสตร์ต้องตามให้ทัน
อาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ที่ปรึกษาชมรมฯ บรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทนักข่าวยุค 3.0 กล่าวว่า นักข่าวยุค 3.0 จะต้องสะท้อนความเป็นไปของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ บทบาทในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ควรใช้การรายงานข่าวเชิงสืบสวนเพื่อให้ได้ข่าว ที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม หลักสูตรในมหาวิทยาลัยควรรองรับ และควรมีรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เข้าร่วมอบรมเปิดเผยว่า การจัดประชุมวิชาการ – วิชาชีพด้านการรายงานข่าวไอซีทีในครั้งนี้ ถือได้ว่าได้ประโยชน์ และอยู่ในช่วงเหมาะสม กล่าวคือ สาขาวิชานิเทศศาสตร์หลายแห่งขณะนี้อยู่ในช่วงการปรับปรุงหลักสูตร ดังนั้นหากมีรายวิชาใหม่ ๆ จากทางสมาคมวิชาชีพที่ได้เสนอแนะ ว่ามีความต้องการบัณฑิตลักษณะใด จะทำให้สามารถนำรายวิชาใหม่ ๆ ไปเปิดสอนและเตรียมนักศึกษานิเทศศาสตร์ให้เท่าทันเทคโนโลยีสารสนเทศในยุค 3.0 และจะได้นำไปสร้างรายวิชาในหลักสูตรโดยเฉพาะเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ออนไลน์เป็นต้น
การจัดประชุมครั้งนี้ มีอาจารย์ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 20 คน จัดโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ระหว่างวันที่ 2 – 3 กันยายน 2554 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี.